
[ค่อนข้างเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์]
ผ่านตาภาพยนตร์เรื่อง Departures ครั้งแรก ในหน้านิตยสารเล่มหนึ่ง พูดถึงหนังว่าด้วยเรื่องของชายคนหนึ่ง ที่จับพลัดจับพลูมาทำงานแต่งหน้าศพ และสุดท้ายเขาก็ค้นหาความหมายของชีวิต จากงานที่เขาภูมิใจงานนี้ แค่พล็อตเรื่องก็จี๊ดใจ
ต่อมา เข้าสู่ช่วงประกาศผลรางวัลออสการ์ รางวัลที่ใครต่อใครก็ให้ความสนใจ เมื่อประกาศผลครบทุกรางวัลแล้ว พลันสายตาก็ไปสะดุดเข้ากับ ชื่อหนังในรางวัลสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม แน่นอน มันคือ Departures ของผู้กำกับ ทาคิตะ โยจิโร่
ค้นหาข้อมูลของหนัง ได้ความว่า ที่ประเทศญี่ปุ่น Departures กลายเป็นหนังสัปเหร่อแห่งปี เนื่องจากคว้า 10 รางวัลตุ๊กตาทองญี่ปุ่นมาได้อีกด้วย อะไรทำให้หนังเรื่องนี้กวาดรางวัลมากมายในประเทศ และคว้ารางวัลอันน่าภาคภูมิจากเวทีออสการ์
ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คท์หนังที่เล่าเกี่ยวกับความตาย มีที่มาจาก โมโตกิ มาซาฮิโกะ พระเอกชื่อดังของญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศอินเดีย ดินแดนที่ “ความเป็น” และ “ความตาย” อยู่ใกล้กันแค่เอื้อม
โมโตกิได้เรียนรู้ชีวิตบางส่วนจากประเทศอินเดียนี้ นอกจากนี้ยังได้ซื้อหนังสือ เกี่ยวกับชีวิตจริงของ ชินมอน อาโอกิ นักเขียนสมัครเล่น ที่จับพลัดจับพลูมาทำอาชีพสัปเหร่อในวัยหลังเกษียณ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว พระเอกอย่างเขาประทับใจเป็นอย่างมาก และมีความคิดไปไกล ว่าถ้าหากได้สร้างหนังเกี่ยวกับอาชีพนี้ ก็คงดีไม่น้อย
แต่ความคิดนี้ก็ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิด ถือเรื่องความตายเป็นเรื่องอัปมงคล ทำให้ถูกค่ายหนังต่างๆ มองข้าม เพราะมันคงไม่ทำเงินแน่นอน จริงๆ แล้ว จินตนาการไม่ออก หรอกว่าหนังที่พูดเรื่องเกี่ยวกับความตายจะเป็นอย่างไร เพราะผู้ผลิตหนังส่วนใหญ่ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ มักจะสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับความตายเอาไว้ในหนังอย่างหลวมๆ ไม่เจาะจงและไม่ชี้ชัด
น่าแปลกก็คือ ประเทศญี่ปุ่นมีค่ายหนังอนุมัติให้ผู้กำกับสร้างหนังออกมามากมายหลายแนว แม้กระทั่งหนังโป๊ก็ยังมีเป็นธุรกิจ ที่คุ้นกันในชื่อ Pink Film อีกทั้งที่ประเทศนี้ยังมีเจ้าพ่อหนังคัลท์อย่าง ทาคาชิ มิอิเกะ เหตุใดจึงไม่มีสตูโอหนังที่ไหนสนใจโปรเจ็คท์สัปเหร่ออันนี้เลย
แต่กระนั้นก็ยังมีหนึ่งคนที่ไม่มองข้ามโปรเจ็คท์นี้ของโมโตกิ จนสามารถหาเงินทุนให้กับภาพยนตร์สัปเหร่อที่เขียนบทโดย คุนโด โคยามะ โดยใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นที่เมื่อแปลออกมา ได้ความหมายว่า “การนำทาง” หรือ Departures เมื่อบทพร้อม คนออกเงินพร้อม ผู้กำกับและทีมงานต่างๆพร้อม การเดินทางไปสู่อาชีพสัปเหร่อก็เริ่มขึ้น โดยได้ โมโตกิ ผู้ริเริ่มโปรเจ็คท์มารับบทนำ
มาถึงตรงนี้หนังเรื่องนี้มีดีอย่างไร บอกเล่าสิ่งใดให้ผู้ชมรับรู้บ้าง คนในประเทศญี่ปุ่นคงประจักษ์แก่สายตาแล้ว อันจะเห็นได้จากรางวัลมากมายจากสถาบันภาพยนตร์ในประเทศ และข้ามน้ำข้ามทะเลไปรับรางวัลเกียรติยศถึงเมืองคานส์ คนไทยก็คงได้รับชมกันแล้ว กับเรื่องราวของ โคบายาชิ ไดโงะ (โมโตกิ มาซาฮิโกะ) นักดนตรีเชลโล่ ในวงออเคสตร้าเล็กวงหนึ่ง ที่ชะตาเล่นตลก เมื่อวงดนตรีที่เขาสังกัดอยู่ แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องยุบวงไปในที่สุด ครั้งหนึ่งเชลโล่คือทุกสิ่งทุกอย่างของเขา แต่ในตอนนี้มันคือหนี้ก้อนใหญ่ราคา 18 ล้าน ไดโงะจึงตัดสินใจพาภรรยา มิกะ (ฮิโรสุเอะ เรียวโกะ) เดินทางกลับยามากาตะ บ้านเกิดของเขาเอง หางานใหม่จากประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ “งานเดินทาง” ที่เขาคิดว่าเป็นการนำเที่ยว ก็ได้เริ่มขึ้น

หากพูดกันตามภาษาสากล อาชีพที่บริษัทของไดโงะทำนั้น จะมีขั้นตอนหนึ่งที่เรียกว่า เอ็มบลามมิ่ง หรือตกแต่งศพ ประโยชน์ของการทำเอ็มบลามมิ่ง ไม่ใช่แค่การอาบน้ำศพอย่างเดียวเท่านั้น มันยังหมายรวมไปถึงการตบแต่งศพให้มีสภาพน่ามอง และเป็นการฆ่าเชื้อโรคให้กับศพอีกด้วย
บริษัทที่ไดโงะร่วมงาน เสนอเงินเดือนแสนแพง และเมื่อรู้ว่า “การนำทาง” ของบริษัทคืออะไร ไดโงะก็ไม่วายที่จะสับสน เขาจะสามารถเป็น “ผู้นำทาง” บุคคลที่ตายไปแล้ว ให้ไปสู่สุคติได้จริงหรือ แม้ไดโงะจะกระอักกระอ่วนใจ แต่เขาก็เลือกทำงานในที่แห่งนี้ และโกหกภรรยา ที่สำคัญแม้จะทำใจในงานอยู่บ้าง แต่กระนั้นในวันที่ต้องออกทำงานครั้งแรก กับสภาพศพที่ดูไม่รู้ว่าเป็นใคร เขาก็รับกับการใกล้ชิดสิ่งที่เรียกว่า “ความตาย” แบบนี้ไม่ได้
การทำศพให้กับศพยายแก่ไม่มีญาติ ตายมาแล้วสองอาทิตย์ คือสิ่งแรกที่หนังนำเสนอเกี่ยวกับความตาย ไดโงะ และคนดูรับรู้ไปพร้อมกัน
หลังเสร็จงาน ไดโงะกลับบ้าน มาเจอภรรยาที่ยังมีเลือดเนื้อ เขาคงครุ่นคิดไม่ต่างไปต่างคนดู ถึงการมีอยู่ซึ่งเนื้อหนังมังสาของคน จึงกลายเป็นการแสดงออก สัมผัสภรรยาอย่างหื่นกระหายเช่นนั้น
ไดโงะทำงานกับศพบ่อยจนเริ่มชินไปเอง เขาครุ่นคิดถึงอาชีพนี้ และความตายโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งความลับไม่มีในโลก มิกะ ภรรยารู้ความจริง เธอยื่นคำขาดว่า ถ้าเขาไม่เลิกทำอาชีพนี้ เธอจะกลับไปอยู่บ้านเกิดอย่างถาวร
ไม่เพียงแต่มิกะผู้เป็นภรรยาเท่านั้น ที่รังเกียจเดียดฉันท์ไดโงะเมื่อรู้ว่าเขาทำงานเป็นอะไร แม้แต่ ยามาชิตะ เพื่อนสมัยเด็กของเขาเองก็ด้วย มิกะก็ดี ยามาชิตะก็ดี และมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ดี มักยึดติดกับรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ แม้กระทั่งหน้าที่การงาน สิ่งที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ อย่างอาชีพสัปเหร่อ ยังถูกมองว่าต่ำต้อยด้อยค่า จุดนี้มองกันลึกๆ ไม่ใช่แต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นหรอก ประเทศไทยเราเอง ก็มองอาชีพสุจริตอย่างสัปเหร่อไม่ต่างกัน ซึ่งในบางคนอาจรวมอาชีพงานหนักเงินน้อย ต่ำต้อยไปเสียหมดก็เป็นได้
ทุกๆคนคงลืมกันไปหมดแล้ว ว่าไม่วันใดวันหนึ่ง พวกเราก็ต้องตาย และเหลือเพียงโครงกระดูก ที่จับต้องได้เช่นเดียวกับเนื้อหนัง แต่ให้ความรู้สึกต่างกัน เท่านั้นเอง

เมื่อมองกันอย่างกันถี่ถ้วน หนังรางวัลนานาชาติเรื่องนี้ ไม่ได้มีแต่ประเด็นความตายอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังอบอวลไปด้วยวัฒนธรรมที่ต้องพบได้ในทุกชาติทุกภาษา อีกทั้งยังมีเรื่องราวสามัญของสามีภรรยา แม่ลูก การทำงาน สังคมที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา
สำหรับไดโงะ ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกลับบ้านเกิด เขาพบกับวิกฤติการทำงาน การถูกเลิกจ้าง ความจริง ความฝันอันสูงสุด
“สิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นความฝันอันสูงสุด บางทีมันอาจจะไม่ใช่ความฝันที่แท้จริงก็ได้”
“บางสิ่งที่เราอยากทำมาโดยตลอดชีวิต กับสิ่งที่เราทำได้ อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน”
สองประโยคข้างต้น สอดคล้องและให้ความหมายคล้ายกัน ไดโงะมุ่งทำความฝันของตัวเองให้ลุล่วง และประสบความสำเร็จ แต่แล้ววันหนึ่งก็ต้องพบความจริงที่ว่า ความฝันที่มุ่งหวังมันไม่อาจเป็นฝันที่สมบูรณ์ หรือไม่ มันก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ตั้งแต่แรก นั่นคือ บางทีสิ่งที่เขาอยากทำ กับสิ่งที่เขาสามารถทำได้ในตอนนี้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ไดโงะฝันถึงการเป็นนักเชลโล่ จนเขาเป็นได้ในที่สุด แต่เมื่อเป็นแล้วก็พบว่า เส้นทางแห่งนี้ไม่ได้สวยหรู เขาต้องติดหนี้จากการซื้อเชลโล่ราคาแสนแพง และโชคก็ไม่เข้าข้างอีกครั้งเมื่อวงออเคสตร้าที่เล่นประจำ ต้องยุบวงเพราะทนภาวะรายได้ตกต่ำไม่ไหว
ความสับสนนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน กว่าจะตัดสินใจว่าการกลับมายังบ้านเกิดเป็นสิ่งที่ควรทำ ณ ขณะนั้น ไดโงะก็ใช้เวลาในการตัดขาดจากเชลโล่อยู่นานทีเดียว
คนเรานั้น หากต้องหันหลังให้กับสิ่งที่ชอบสิ่งที่ฝันแล้ว คงเป็นเรื่องที่ยากเอาการอยู่ น้อยคนที่สามารถทำในสิ่งที่อยากทำ ให้เป็นสิ่งที่ทำไปตลอดชีวิต โดยไม่ติดขัด จริงๆแล้วความฝันกับสิ่งที่ควรจะเป็น คงเป็นสิ่งที่มีเยื่อบางๆกั้นอยู่กระมัง

ปัญหาบางอย่างที่สามีภรรยา มักประสบ คือความไม่เข้าใจกัน มีความคิดเห็นกันคนละทาง สำหรับมิกะผู้เป็นภรรยา เธอไม่เคยขัดต่อการตัดสินใจของไดโงะผู้เป็นสามีเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพนักเชลโล่ หรือการกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังบ้านเกิด แม้จะเป็นแบบนี้แล้วแต่ไดโงะก็ยังมีเรื่องปิดบังภรรยา ไม่ว่าจะเรื่องขนาดปานกลางอย่างการซื้อเชลโล่ราคาแพง หรือเรื่องใหญ่อย่างการทำงานเป็น “คนทำศพ”
ส่วนหนึ่งของการปิดบัง เพราะไดโงะรู้นิสัยภรรยาของเขา ว่าถ้าหากบอกความจริงไปตั้งแต่แรก เธอต้องออกปากคัดค้าน และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เธอยื่นคำขาด ถ้าหากเขาไม่เลิกทำงานนี้ เธอจะขอหย่า
อีกครั้งของไดโงะ กับสภาวะที่ต้องตัดสินใจอย่างหนักหน่วง เขาไม่อาจเข้าใจว่าเหตุใดการสัมผัสกับศพ หรือใกล้ชิดกับความตาย อันเป็นงานสุจริตของเขานั้น เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงสำหรับภรรยา ในเมื่อความตายเป็นเรื่องที่เกิดมาไม่ช้าก็เร็ว ทุกคนก็ต้องประสบพบเจอ
มนุษย์มักหวาดกลัวต่อความตาย โดยไม่รู้สาเหตุ อีกทั้งยังพยายามหนีให้ห่างไกลจากความตายอีกด้วย หากมนุษย์อย่างเราย้อนคิดสักนิด ความตายหรือก็คือการเริ่มต้น เจริญเติบโตของชีวิต
ในวันหนึ่ง หลังมิกะกลับไปบ้านเกิดแล้ว ไดโงะตัดสินใจลาออกจากงาน ซึ่งเขาคงไม่ต่างจากคนที่เริ่มรักในสิ่งที่กำลังทำ และลำบากใจที่จะลาออก ในเมื่องานที่ทำอยู่นั้น ไม่ได้มีความผิด
ในขณะที่ไดโงะบอกเรื่องสำคัญกับหัวหน้า ซาซากิ (ซึโตมุ ยามาซากิ) เป็นช่วงเวลาที่ซาซากิรับประทานอาหาร บทหนังเขียนให้ ณ ขณะนั้นเอื้อต่อการเรียนรู้ และเข้าใจความตายได้อย่างชาญฉลาด
ซาซากิ เชื้อเชิญให้ไดโงะร่วมรับประทานอาหาร และกล่าวสิ่งที่ไม่ว่าไดโงะ หรือใครๆก็ปฏิเสธไม่ได้
“สิ่งมีชีวิต กินสิ่งมีชีวิต เพื่อมีชีวิต ที่จำเป็นต้องกิน ถ้าไม่อยากตาย”
พฤติกรรมการกิน มีมายาวนาน ทำให้ในปัจจุบันคนเราหลงลืมไปว่า ทุกวันนี้เรากินสิ่งใด หากเปรียบปลา หมู ไก่ ที่ตายแล้วเป็นศพฉันใด นั่นก็เท่ากับว่าเราทุกคนต่างกินศพเหล่านั้น เพื่อมีชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าฉันนั้น และน่าเศร้าตรงที่ ศพที่พวกเรากินเข้าไปนั้น “มันอร่อย”
เมื่อความตาย เกิดขึ้นได้กับทุกสิ่ง ทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนา ความตายจึงเป็นเรื่อง “สากล” ไปโดยปริยาย และมีจำนวนไม่น้อยเลย ที่คนเป็นเรียนรู้สิ่งต่างๆที่ผ่านมา จากความตายของคนรักในครอบครัว
หลายครอบครัวที่ไดโงะได้ออกไปทำศพให้นั้น มักมีปัญหาภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกที่มีพฤติกรรมขัดไปจากเพศของตนเอง ภรรยาที่สามีไม่รู้แม้กระทั่งลิปสติกแท่งโปรด ลูกสาวที่อาจเรียบร้อยต่อหน้าแม่เท่านั้น
หนังเปรียบเทียบอย่างชาญฉลาดอีกครั้ง โดยให้พวกเขาที่กล่าวไปข้างต้นเหล่านั้น เป็นคนตายที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่า บทเรียนจากปัญหาอันเปราะบางในครอบครัวอันยิ่งใหญ่ ที่มีบทสรุปเป็นความตายที่พวกเขามอบให้คนเป็นนั้น ทุกข์ และหม่นเศร้าเพียงใด
มนุษย์หลีกหนีความตาย เพราะรู้ว่าเมื่อได้พบเจอกับสิ่งนี้ มันจะโศกสลดมากแค่ไหน แม้จะรู้เช่นนี้แล้ว แต่ทำไมมนุษย์ยังคงทำแต่สิ่งเลวร้าย ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอยู่อย่างไม่วางวาย มันทำให้เห็นภาพความหมายของคำสุภาษิตไทยคำหนึ่ง “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
ยามาชิตะ เพื่อนของไดโงะก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อแม่เพียงคนเดียวของตน เสียชีวิตลง และจากเหตุการณ์นี้เอง ที่ทำให้มิกะ รู้ถึงความหมายในอาชีพที่ไดโงะกำลังทำอยู่ ตัวไดโงะเองก็ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวเหล่านั้น โดยเขาไม่มีความทรงจำ แม้กระทั่งลืมหน้าของพ่อบังเกิดเกล้า ทำให้เขาลืมคิดไปว่า เชลโล่ที่เป็นความชอบของเขานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกฝังของพ่อ และสิ่งแสดงความรักที่เขาเคยบอกแก่ภรรยา ก็ได้รับมาจากพ่อเช่นกัน
บทสรุปของอาชีพสัปเหร่อของไดโงะ ที่กว่าไดโงะ ภรรยา รวมถึงคนรอบข้างจะเข้าใจในการมีอยู่ของอาชีพและความหมายของมัน ก็ต้องมีความตายเป็นตัวทดสอบ กว่าไดโงะจะให้อภัยผู้เป็นพ่อ และมองหน้าของพ่อให้ชัดๆ ก็เสียเกินไปเสียแล้ว กระนั้นไดโงะก็ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่ในท้ายสุด เขาได้ทำหน้าที่เป็นคน “นำทาง” ให้กับพ่อ พ่อผู้ให้กำเนิด ให้สิ่งต่างๆแก่เขา โดยที่เขาก็ไม่รู้ตัว
บางครั้ง กว่าเราจะรู้ว่ามีความรักเกิดขึ้นกับตัวเองมากแค่ไหน ก็ต้องให้การสูญเสียอันใหญ่หลวง ที่เรียกว่า “ความตาย” เป็นคนบอก
วนิดา แก่นจันทร์
Comments